Home / เกือบสามร้อยหารือความปลอดภัยของการเดินและการใช้จักรยานในการประชุมวิชาการครั้งที่ 3 : การประชุมห้องย่อยที่ 1-4

เกือบสามร้อยหารือความปลอดภัยของการเดินและการใช้จักรยานในการประชุมวิชาการครั้งที่ 3 : การประชุมห้องย่อยที่ 1-4

เกือบสามร้อยหารือความปลอดภัยของการเดินและการใช้จักรยานในการประชุมวิชาการครั้งที่ 3 : การประชุมห้องย่อยที่ 1-4

บันทึกการประชุมห้องย่อยที่ 1 (ห้อง 201):กลุ่มงานวิจัยด้านกฎหมายและนโยบาย (Law & Policy)

ผู้ดำเนินรายการ: ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา

 

(1) ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายทางจักรยาน กรณีศึกษาทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์

โดยปิยธิดา พิชชโยธิน  นักศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

               การศึกษานี้เป็นการศึกษา 5 เส้นทางเดิมที่มีการประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรให้เป็นช่องทางเดินรถสำหรับรถจักรยานในปี 2553ก่อนที่จะมีการทำและประกาศเพิ่มรวมเป็น 12 เส้นทางในปลายปี 2557 ผู้ศึกษาได้ให้ข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พรบ.ล้อเลื่อน 2475 และ พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่มีถึงระบุเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการใช้จักรยานไว้ในมาตรา 70-84 โดยมีบทลงโทษในมาตรา 147 ปรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 79, 80 และ 82  ได้ไม่เกิน 200 บาท และมีมาตรา 139 ห้ามไม่ให้ยานพาหนะอื่นเข้าไปใช้ช่องทางจักรยาน โดยมีบทลงโทษในมาตรา 154(2) ปรับผู้ฝ่าฝืนได้ไม่เกิน 1,000 บาท  ในห้าเส้นทางนี้มีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกับเส้นทางเหล่านี้โดยตลอด เช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับอื่นๆ คือมีรถทุกประเภทมาจอดทับทางจักรยาน  ต่อการบังคับใช้กฎหมาย มีข้ออ้างจากตำรวจว่ามีกำลังพลไม่เพียงพอ แต่ก็เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่บังคับใช้กฎหมายทั้งที่เห็นผู้ทำผิดต่อหน้าต่อตา ส่วนผู้ทำผิดมักกล่าวว่าไม่ทราบกฎหมาย ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นตามกฎหมาย    การไม่บังคับใช้กฎหมายทำให้เส้นทางจักรยานบางถนนแทบใช้ไม่ได้เลย  ดังนั้นการมีเสากั้นไม่ให้รถยนต์เข้าไปในทางจักรยานย่อมดีกว่า อย่างไรก็ต้องนำหลักอื่นมาใช้ในการพิจารณาด้วย อาจใช้วิธีการอื่นที่เหมาะสมกับสภาพถนนมากกว่า ใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้น้ำใจด้วย  การจำกัดจำนวนรถอาจใช้มาตรการอื่น เช่น มาตรการทางภาษี

ความเห็นของผู้เข้าร่วม

1) ยืนยันให้บังคับใช้กฎหมาย

2) ต้องกำหนดเทศบัญญัติและใช้การวางผังเมืองมาออกแบบถนนให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน

3) การใช้จักรยานเป็นเรื่องสิทธิ คนที่มีรถส่วนตัวละเมิดสิทธิคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน ทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางมากกว่าที่ควร ดังนั้นประชาชนต้องร่วมมือกัน เรียกร้องให้จำกัดการใช้รถยนต์ ใช้มาตรการต่างๆ เข้ามา เช่น การให้ผู้ใช้รถและบริษัทรถจ่ายอุดหนุน, การมีที่จอดจักรยาน

4) ทำ Sky Bike Lane คือเส้นทางจักรยานลอยฟ้าใต้ทางด่วน

(2) บทบาทของกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้จักรยานในประเทศไทย

โดย ดร.ดวงเด่น นาคสีหราช และชาคริต ขันนาโพธิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

กฎหมายผังเมืองประกาศใช้ในปี 2518 มีการแก้ไขมาแล้ว 4 ครั้ง แยกผังเมืองเป็นสองลักษณะคือผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกจึงมีการกระจายอำนาจ เพราะไม่มีกฎหมายออกมาใช้เฉพาะกับผู้ใช้จักรยานในไทย ในอังกฤษมี  ผู้ศึกษาเสนอให้มีการทบทวนปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้

ความเห็นของผู้เข้าร่วม

1) (อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย) ความจริงผังเมืองมี 3 แบบคือมีผังเมืองนโยบายด้วย  ผังเมืองรวมมีทั้งเป็นหย่อมๆ และบังคับใช้เต็มพื้นที่จังหวัด มีอายุ 5 ปีและขยายต่อได้สองครั้งๆ ละ 1 ปี หลังจากนั้นหากไม่มีผังเมืองใหม่ออกมาก็ต้องใช้เทศบัญญัติ  ในทางปฏิบัติพบว่าผังเมืองใช้ไม่ได้  สมาคมการผังเมืองมีความเห็นให้ใช้ผังเมืองมาสนับสนุนการใช้จักรยาน โดยผังเมืองต้องเป็นแบบ Smart Growth และ TOD (Transit Oriented Development การพัฒนาที่เอื้อต่อการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ) เมืองจะต้องเป็นแบบ compact (คือแบบกระจุก มีสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตครบถ้วนในแต่ละย่าน) ไม่ใช่แบบ sprawl (คือเมืองขยายออกไปกว้างมาก ทำให้ชาวเมืองต้องเดินทางไปประกอบกิจต่างๆ ในระยะที่ไกลออกไป) แต่พบว่าไม่มีผังเมืองเฉพาะมาใช้  การแก้ปัญหาต้องแก้ที่คนก่อนนักผังเมืองบางคนยังไม่เข้าใจ และไม่มีการใช้กฎหมายอย่างจริงจังให้เป็นไปตามกฎกระทรวงเลย 

2) (นายกฤษดา กำแพงแก้ว จากเชียงใหม่) การใช้จักรยานเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในการเลือกการเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่ในไทย ถนนไม่ให้ความสะดวกและความปลอดภัยกับคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน  ผังเมืองจะช่วยได้ เอามาใช้ระดมความเห็นไปเสนอผู้บริหารเมือง

(3) โปรแกรมฝึกการเดินและขับขี่จักรยานอย่างปลอดภัยของเด็กวัยเรียนในเขตจังหวัดนครนายก

 

โดย พ.อ. อดิชศร แย้มวงศ์ กองสนับสนุนการฝึกและศึกษา กรมยุทธศึกษาทหารบก

วิธีการเพิ่มผู้ใช้จักรยานทางหนึ่งคือการให้การศึกษาโดยมีหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงการศึกษา  การวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการวิจัยเชิงทดลองในเขตจังหวัดนครนายก โดยมีเครื่องมือ 3 ชุดคือ โปรแกรมการฝึก, แบบประเมินความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม, และการประเมินความพึงพอใจ ได้ประยุกต์โปรแกรมการสอนมาใช้ใน 3 ระดับคือ ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับก้าวหน้า จัดทำเป็นคู่มือสำหรับแต่ละระดับ มีภาพประกอบมากๆ ให้น่าสนใจ นำไปทดลองใช้ที่โรงเรียนวัดเชี่ยวโอสถที่ อ.องครักษ์ ชั้น ป.3, ป.6 และ ม.3 มีการเรียนการสอนในห้องเรียน การฝึกขี่จักรยานในชุมชน และกลับมาสอนอีกครั้ง  เน้นไปที่การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  การสอนและฝึกใช้เวลาครั้งละ 1 ชั่วโมง รวมทั้งหมดในสามระดับเป็น 4, 6 และ 8 ชั่วโมงตามลำดับ  การฝึกปฏิบัติใช้ผู้ช่วยสอน 4 คน ไม่มีการใส่หมวกนิรภัย แต่ใส่เสื้อที่มีแถบสะท้อนแสง   ผลการประเมินออกมาได้คะแนนสูง  พบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยก่อนและหลังการเรียนการฝึกอย่างชัดเจนมีนัยสำคัญ สรุปว่าโปรแกรมมีผลระดับหนึ่ง ได้คะแนนความพึงพอใจในระดับดี แต่พบว่าสื่อที่ใช้สอนนำมาจากต่างประเทศ ถ้ามีการพัฒนาสื่อที่เป็นภาษาไทย จะได้ผลดีกว่า  สำหรับข้อเสนอให้ปรับปรุงคือควรมีการพัฒนาความรู้และทัศนคติผู้ฝึกสอนก่อน เพื่อให้การสอนมีประสิทธิผล  การวิจัยยังพบว่าเด็กส่วนใหญ่ขี่จักรยานเป็น แต่ไร้รูปแบบ โปรแกรมการฝึกจึงช่วยได้ และสามารถนำไปขยายผลกับประชาชนทั่วไป

ความเห็นของผู้เข้าร่วม

1) (อาจารย์ธงชัย) เสนอให้ผู้วิจัยมาขอทุนจากชมรมฯ ไปทำวิจัยต่อยอดได้ ทางชมรมฯ ได้ประสานงานกับกระทรวงไว้แล้วในการนำโปรแกรมการฝึกไปใช้

2) (ผู้ทรงคุณวุฒิดูแลอาคารโบราณ จากกรมโยธาธิการและผังเมือง) ต้องละเอียดอ่อนในการใช้ภาพ จักรยานในภาพไม่เหมาะกับสรีระเด็กในทาง ergonomics ต้องออกระเบียบหรือกฎกระทรวงให้มีการออกแบบจักรยานให้เหมาะสมกับสรีระของคนไทย ได้มาตรฐานในด้านความแข็งแรงและขี่ได้ปลอดภัย

(4) สิทธิ์ของคนใช้จักรยานบนทางสัญจร

 

โดย บุญเลิศ โพธิ์ขำ อาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเจษฎา ไชยตา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

การวิจัยนี้เป็นการรวบรวมสิทธิต่างๆ ของผู้ใช้จักรยานที่ปรากฏในกฎหมาย 5ฉบับคือ รัฐธรรมนูญ, ประมวลกฎหมายแพ่งและอาญา, พรบ.จราจรทางบก, พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ พรบ.ประกันสังคม ทำความเข้าใจสิทธิเหล่านี้และจัดเป็นหมวดหมู่ จากการพบว่า ปัญหาหนึ่งในการสร้างและส่งเสริม “วัฒนธรรมจักรยาน” คือการขาดความเข้าใจสิทธิของผู้ใช้จักรยานและการใช้สิทธิเหล่านี้  โดยศึกษาสิ่งที่มีในอังกฤษ พบว่าสามารถเอามาเป็นแบบอย่างได้ เช่น การชดเชยเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหาย, กฎหมายผังเมือง, กฎหมายภาษีที่ส่งเสริมการใช้จักรยาน, มาตรฐานจักรยาน อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐาน  การทำวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเอกสารดูว่าผู้ใช้จักรยานได้รับความคุ้มครองอย่างไรบ้าง ยังไม่มีการเก็บข้อมูลจากภาคสนามในเชิงปริมาณมาสนับสนุน   การวิจัยได้ข้อสรุปว่า ในด้านสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผู้ใช้จักรยานในไทยยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์เท่าในต่างประเทศ แต่ก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ด้วยการนำความรู้เกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่ไปเผยแพร่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบและเผยแพร่ต่อไปให้ผู้ใช้จักรยานทราบ

ความเห็นของผู้เข้าร่วม

1) (กรรมการศูนย์ความปลอดภัยทางถนน และสำนักงานเครือข่ายอุบัติเหตุ) มีคนตั้งคำถามเรื่องการชดเชยผู้ใช้จักรยานที่ถูกชนกันมาก คำถามคือกฎหมายมีมากพอไหม น่าจะเพิ่มอะไรไหม  ขณะนี้การคุ้มครองผู้ขับขี่จักรยานยนต์ก็ยังไม่เท่าผู้ขับรถยนต์ ทำให้คนใช้จักรยานยนต์ตายเปล่าเป็นจำนวนมาก   อีกประการคืออะไรเป็นสาเหตุที่การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิผล เป็นเพราะขาดคน หรือขาดวิธีการ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการใช้   เมื่อการวิจัยพบว่าตำรวจไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ จะให้บุคลากรของ อปท.เข้ามาทำหน้าที่นี้หรือไม่  อยากให้หาว่าการออกแบบใดเหมาะกับสภาพของประเทศไทย

2) น่าศึกษาว่าการสอนการสอบเพื่อขอใบขับขี่มีเรื่องการระมัดระวังผู้ใช้จักรยานมากน้อยเพียงใด

3) การละเมิดกฎหมายมีสาเหตุหลายประการ การบังคับใช้กฎหมายอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป

บันทึกโดย  กวิน ชุติมา

Comments

comments

Check Also

ระดมผู้เชี่ยวชาญช่วยเสริมพลังเมืองที่อยากเป็นมิตรกับการเดินและจักรยาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น