Home / เกือบสามร้อยหารือความปลอดภัยของการเดินและการใช้จักรยานในการประชุมวิชาการครั้งที่ 3 : การประชุมห้องย่อยที่ 6 (ห้อง 201): บทเรียนจากโรงเรียนและชุมชนจักรยาน

เกือบสามร้อยหารือความปลอดภัยของการเดินและการใช้จักรยานในการประชุมวิชาการครั้งที่ 3 : การประชุมห้องย่อยที่ 6 (ห้อง 201): บทเรียนจากโรงเรียนและชุมชนจักรยาน

เกือบสามร้อยหารือความปลอดภัยของการเดินและการใช้จักรยานในการประชุมวิชาการครั้งที่ 3 : การประชุมห้องย่อยที่ 6 (ห้อง 201): บทเรียนจากโรงเรียนและชุมชนจักรยาน

 

บันทึกการประชุมห้องย่อยที่ 6(ห้อง 201):บทเรียนจากโรงเรียนและชุมชนจักรยาน

ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้การเดินและการใช้จักรยานในสถานศึกษาเพื่อไปสู่การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

ผู้ร่วมการสนทนา: นายโอกาศ รวมสิทธิ์ ผูู้อำนวยการ, คุณครูศรีสุดา สุราวุธ ครูชำนาญการ และคุณครูบรรพต บุญทวี ครูชำนาญการจากโรงเรียนกระแซง (คุรุราษฎร์นุกูล) อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ, คุณครูเพ็ญนภา รวมสิทธิ์ ครูวิทยาศาสตร์ รร.ชุมชนบ้านข้าวต้มหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และอาจารย์จันทร์เพ็ญ พรมจันทร์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการและที่ปรึกษาโครงการพัฒนาหลักสูตรเดิน-จักรยาน

ผู้ดำเนินรายการ:คุณกชกร วิสุทธิวสุธาร

อ.จันทร์เพ็ญได้เท้าความไปถึงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ในส่วนที่ระบุถึงบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการ และกล่าวถึงแนวทางในการบูรณาการเรื่องการเดินและการใช้จักรยานเข้าไปในกลุ่มสาระวิชา 8 กลุ่มที่มีอยู่เดิมและพัฒนาเป็นสาระวิชาใหม่ขึ้นมา

อ.โอกาสเล่าว่า โรงเรียนกระแซงให้บริการการศึกษาแก่สี่หมู่บ้าน มีนักเรียนสามร้อยกว่าคน ครูสิบกว่าคน   ครูบรรพต บุญทวี ขอทำกิจกรรมนำเด็กขี่จักรยานไปเก็บรวงข้าวที่หล่นอยู่ในท้องนาหลังการเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน เป็นการไปเรียนรู้นอกโรงเรียน ในขณะที่การสำรวจการใช้จักรยานของชุมชนกระแซง พบว่าชาวบ้านยากจน ทุกบ้านมีจักรยานและใช้จักรยานออกหาอาหารและของป่า  อ.โอกาสคิดว่าน่าจะเอาจักรยานมาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน จึงให้ศึกษานิเทศก์มาอบรมครูทำหลักสูตรจักรยานขึ้น เป็นหลักสูตรสาระเพิ่มเติม แทรกในการสอนทั้งหกสาระวิชาคือทุกชั่วโมงในวันพฤหัสบดี รวม 40 ชั่วโมงในหนึ่งปี  เริ่มจากชั้นอนุบาล  เนื้อหาเริ่มต้นด้วยประวัติและส่วนประกอบต่างๆของจักรยาน  โดยจัดตามวุฒิภาวะ เช่น ป.6 ให้ค้นคว้ามาเขียนรายงาน  ในกิจกรรม เด็กที่ออกไปเก็บรวงข้าวได้เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การปั่นเข้าไปในป่าชุมชนทำให้ได้เรียนรู้แหล่งอาหารของชุมชน  หลักสูตรนี้ยินดียกให้ทุกคนที่ต้องการ อยากให้เผยแพร่ไปทั่วประเทศ อยากให้มีการใช้จักรยานเป็นเครื่องมือในการทำให้ชีวิตดีขึ้น

อ.บรรพกล่าวว่า ในปีต่อไปอยากเน้นไปทำที่ชุมชนตามแนวทางการทำงานของชมรมจักรยานศรีสะเกษ อยากให้การใช้จักรยานในชุมชนเป็นแบบยั่งยืนเหมือนการใช้รองเท้า จะทำอย่างไร

อ.เพ็ญนภาเล่าว่า โรงเรียนชุมชนบ้านแม่ข้าวต้มหลวงเป็นโรงเรียนขยายโอกาสระดับกลาง นักเรียนมีทั้งจากในหมู่บ้าน จากชุมชนใกล้เคียงในตำบล และจากพม่า  พบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีจักรยาน แต่ผู้ปกครองเป็นห่วงไม่ให้เด็กขี่จักรยานมาโรงเรียน  การดำเนินงานเรื่องจักรยานมี 2แนวทางคือ แนวทางแรก ส่งเสริมให้นักเรียนที่บ้านอยู่ใกล้โรงเรียนเดินหรือใช้จักรยานมาโรงเรียน โรงเรียนได้เขียนเป็นโครงการขึ้นมาดำเนินงาน และแนวทางที่สอง เอาเรื่องการใช้จักรยานมาบูรณาการกับหลักสูตรแกนกลาง มีการประชุมพิจารณาว่าจะบูรณาการเข้าไปส่วนใดได้บ้าง เช่น ความรู้เบื้องต้นในการใช้จักรยานสามารถบูรณาการเข้าไปในกลุ่มสาระวิชา 4 กลุ่ม  เมื่อได้เนื้อหาในเรื่องจักรยานแล้วก็เอาไปบูรณาการกับเนื้อหาของวิชาต่างๆ เป็นหน่วยๆไป กระบวนการนี้ทำซ้ำไปเรื่อยจนถึงหน่วยเรื่องประโยชน์ของการใช้จักรยาน และหน่วยเรื่องจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว

อ.จันทรเพ็ญสรุปว่า รร.กระแซงจัดทำเป็นสาระวิชาเพิ่มเติม 6 หน่วย เป็นการจัดการศึกษาที่ลึกไปกว่าที่หลักสูตรของกระทรวงศึกษากำหนดไว้  ส่วน รร.ชุมชนบ้านแม่ข้าวต้มหลวงใช้วิธีเสริมสอดแทรกเข้าไปในรายวิชาพื้นฐานที่มีมาตรฐานกำหนดไว้แล้ว  เสนอว่าทางโรงเรียนน่าจะแตกเป็นหน่วยย่อยไปกว่านี้อีก และแต่ละหน่วยควรมีชื่อที่เร้าใจให้เรียน ไม่ทื่อๆ เช่น “ประโยชน์ของจักรยาน” อาจเป็น “จักรยานคู่ใจในการทำประโยชน์”

การให้เด็กใช้จักรยานนั้นต้องสร้างความตระหนักให้เกิดกับทั้งเด็กและผู้ปกครอง ว่าใช้แล้วเกิดผลดีอย่างไร ไม่ใช้เกิดผลเสียอย่างไร เปลี่ยนและสร้างค่านิยมใหม่ให้หันมาใช้จักรยานตามความเหมาะสม ฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัย กลายเป็นวัฒนธรรมชุมชน การมีจิตสำนึกเช่นนี้สำคัญมาก   

อ.จันทร์เพ็ญเสนอให้โรงเรียนเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนในทุกส่วนดังที่ อ.บรรพตพูด โรงเรียนทำด้านเดียวจะไม่พอ ไม่ยั่งยืน, มีการประชาสัมพันธ์สิ่งที่จะทำและผลงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยปลุกคนที่ยังไม่ตื่น, สร้างภาคีเครือข่ายกับโรงเรียนและชุมชนต่างๆ หลายๆแบบ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการ และมีการร่วมคิดร่วมทำกับหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อปท. ชมรมจักรยาน มาช่วยกันออกความคิด ช่วยเสนอ-ผลักดันให้เกิด และร่วมทำกิจกรรม    ในการร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้คนในชุมชนเปลี่ยนทัศนคติ ทุกหน่วยงานสามารถช่วยได้ รวมทั้งชมรมจักรยานต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป จะเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น   การจัดการศึกษาเรื่องการใช้จักรยานต้องทำให้ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่ภาระเพิ่ม แต่เป็นการเติมเต็มสาระวิชาการเรียนรู้ตามหลักสูตรที่มีอยู่แล้ว จึงขอเชิญชวนผู้จัดการศึกษาในสถานศึกษาทำ  ชวนให้หลายฝ่ายมาร่วมกันทำอย่างเหมาะสมตามบทบาทหน้าที่ จากจุดเล็กๆจะขยายออกไปทั่วประเทศได้

ความเห็นของผู้เข้าร่วม

1) (สื่อมวลชนท้องถิ่น) การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ทราบสำคัญมาก การขอความร่วมมือหรือเป็นมิตรกับสื่อท้องถิ่นจะช่วยได้มาก เดี๋ยวนี้ทุกอำเภอและแทบทุกตำบลมีวิทยุชุมชน (ทางครู รร.กระแซง เสริมว่าที่โรงเรียนใช้แผ่นพับ วิทยุชุมชน ไลน์ และ เฟสบุ๊ก)

2) ดีใจที่เห็นเด็กเดินหรือขี่จักรยานมาโรงเรียนได้อย่างมีความสุข

3) การบูรณาการต้องให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดของวิชา

4) เราควรสร้างแรงจูงใจให้เด็กเห็นประโยชน์ เด็กจึงจะสนใจ

เวทีแลกเปลี่ยนชุมชนจักรยานกับประสบการณ์การขับเคลื่อนในพื้นที่

ผู้ร่วมแลกเปลี่ยน:พระครูวิจารย์ธรรมโสภิต ที่ปรึกษาชุมชนจักรยานบ้านดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร, นายทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี, นส.สาวิตรี เวทการ นักวิชาการ กองสาธารณสุข เทศบาลตำบลบางจัก อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง, นางจินดา บุษสระเกษ ประธานชุมชนบ้านใหม่อุดม ตำบล… อำเภอ…. จังหวัดนครราชสีมา และ นส.อารยา นามไพร (การ์ตูน) ประธานสภาเยาวชน ชุมชนบ้านหัวอ่าง ตำบล… อำเภถอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา

ผู้ดำเนินรายการ: คุณอารดินทร์ รัตนภูมิ

นายกฯทรงศักดิ์: เมื่อใดชาวบ้านรู้สึกว่า จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ใช้ในชีวิตประจำวัน ชุมชนก็จะเป็นชุมชนจักรยาน  เดิมก็ใช้จักรยานกันทั้งนั้น ต่อมามีรถยนต์จักรยานยนต์เข้ามาจึงหันไปใช้ ขณะนี้เริ่มกลับมาใช้จักรยานอีก

นางจินดา: การใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม ถีบจักรยานไปไร่ไปนาไปตลาดไปวัด เดิมนั้นใครมีจักรยานเท่ เป็นหนุ่มก็สาวตอมกันตรึม

นส.อารยา: การเป็นชุมชนจักรยานไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่เฉพาะเป็นตัวตั้ง กลุ่มคนอยู่ที่ไหนก็มารวมกันเป็น “ชุมชนจักรยาน” ได้

นส.สาวิตรี: ชุมชนจักรยานคือชุมชนที่มีการใช้จักรยานภายในชุมชน  เดิมชุมชนก็ใช้จักรยานกันเป็นธรรมดา แต่ต่อมาหายไป ตอนนี้ก็พยายามฟื้นขึ้นมาอีก การโฆษณาทำให้ค่านิยมคนเปลี่ยนหันไปใช้จักรยานยนต์ แต่ตอนนี้การใช้จักรยานกำลังกลับมาอีก เกิดเป็นชุมชนจักรยานอย่างยั่งยืนได้

พระครูวิจารย์ฯ: ขณะนี้จักรยานถูกนำกลับมาใช้กันอีกที่ดงกลางจนเกือบครบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว มีการทำกิจกรรมกันทุกวันเสาร์  ยิ่งปีนี้การที่เศรษฐกิจไม่ดีข้าวนาปรังไม่ได้ปลูกทำให้มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้จักรยานไปเก็บถั่วเป็นรายได้เสริม พระครูมีแนวคิดว่า เมื่อใดจักรยานเต็มหมู่บ้าน การใช้จักรยานยนต์จะลดไป จึงมีแผนจะใช้กองทุนของวัดที่สะสมมาจากเงินที่ได้รับในการสวดพระอภิธรรม ซื้อจักรยานแจกให้ชาวบ้าน 50คัน  นอกจากนั้นจะขอให้ อบต. ทำป้ายทะเบียนจักรยานติดให้ทุกคัน และมีการทำทางจักรยานยาวประมาณ 3กิโลเมตร

นางภาวดี .(อดีตนายกเทศมนตรี อบต.ดงกลาง ผู้ริเริ่มงานการส่งเสริมการใช้จักรยานของ อบต.): เคยเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยมาก่อน พอได้เป็นนายกเทศมนตรีก็เคยคิดหาวิธีทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพดี เห็นว่าจักรยานใช้ได้ทุกวัย จึงส่งเสริมการใช้จักรยาน

นายปรีชา (นายกเทศมนตรี อบต.ดงกลาง คนปัจจุบัน): รับงานมาได้ปีกว่าก็ทำอย่างต่อเนื่อง ร่วมขี่ทุกบ่ายวันเสาร์ จัดน้ำดื่มให้ทุกวัน ชาวบ้านดงกลางใช้จักรยานกันมานานในการไปนาไปไร่

คุณทรงศักดิ์:นโยบายของเทศบาลคือให้มีกิจกรรมต่อเนื่อง ปั่นให้สุขภาพดีขึ้น มีมนุษยสัมพันธ์ในชุมชนพูดคุยกันมากขึ้น จนเกิดปรากฏการณ์ใหม่ มีกลุ่มจักรยานปั่นรอบเทศบาลทุกเช้า-เย็น ตั้งชมรมจักรยานขึ้นมาเมื่อเดือนสิงหาคม(2557)ค่าสมาชิก 50 บาท ได้เสื้อหนึ่งตัว  ที่พระแท่นเน้นการมีส่วนร่วมมากระตุ้นการใช้จักรยาน  หมู่บ้าน 12 หมู่ในตำบลมีตัวแทนมาร่วมในการขับเคลื่อน  กลเม็ดคือชาวบ้านต้องได้ประโยชน์จากกิจกรรมที่จัด เช่น ปั่นไปเจดีย์ยุทธหัตถีก็ได้ไปเยี่ยมชุมชนที่นั่นด้วย หรือรวมตัวกันปั่นไปหาผู้ว่าราชการจังหวัด ไปขอให้สร้างไหล่ทางตามทางหลวง ชาวบ้านจะได้ขี่จักรยานได้ปลอดภัยมากขึ้น

นางจินดา: เดิมปั่นจักรยานไปไร่นาทำให้สุขภาพดี พอหันมาใช้จักรยานยนต์ สภาพร่างกายก็แย่ลง พอคิดได้ก็เห็นว่าต้องสร้างค่านิยมใหม่  ผลดีของการใช้จักรยานนี้นอกจากเรื่องสุขภาพ คือใช้จักรยานแล้วสุขภาพดีขึ้น ไปโรงพยาบาลน้อยลงแล้ว  การเก็บข้อมูลสมาชิกยังพบว่า ชาวบ้านจ่ายค่าน้ำมันจักรยานยนต์ปีละประมาณ 14,400 บาท ใช้จักรยานแล้วประหยัดเงินจำนวนนี้ได้  ขณะนี้ได้ขยายเครือข่ายออกไปแล้วห้าตำบล  มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิญครูเป็นวิทยากร ให้ชาวบ้านเข้าร่วม

นางสาวิตรี: การส่งเสริมสุขภาพเป็นภารกิจของกองสาธารณสุข โดยใช้จักรยานเป็นเครื่องมือ มีการสร้างแรงจูงใจ การทำสมุดคู่มือผู้ใช้จักรยานบันทึกข้อมูลสุขภาพ สะสมแสตมป์เวลาขี่มาติดต่องานที่เทศบาล ครบ 30 ครั้งแลกรางวัลได้ แต่จำกัดไว้ให้แลกรางวัลได้ 6ครั้ง เท่านั้น เนื่องจากถ้าไม่จำกัดจะเป็นการสร้างนิสัยไม่ดีและงานก็ไม่ยั่งยืน มีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่ลดลงโดยคำนวณจากระยะทางที่ขี่จักรยานแทนใช้จักรยานยนต์-รถยนต์  ขณะนี้พนักงานเทศบาลร้อยละ 80 ใช้จักรยาน(แม่บ้าน)แล้ว  การรณรงค์การใช้จักรยานยังทำร่วมไปกับการรณรงค์อื่น เช่น การงดเหล้า

นส.อารยา: ได้ประสานใกล้ชิดกับนายอำเภอและนายก อบต. ขอทางจักรยานตามทางหลวงจากบ้านใหม่ไปที่อำเภอราวห้ากิโลเมตร

เจ้าหน้าที่ รพ.สต.หนองบุญมาก: (ร้องบทสาละพันยะ)

มาแรงมาก เป็นรูปธรรมของการขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา

คุณเบิดร์(ประธานชุมชนจักรยานหน้าวัดโคนอน): ร่วมกับชมรมฯมาตั้งแต่ปี 54 มีกิจกรรมรณรงค์เหมือนกัน เพราะต้องสร้างกระแสสร้างความสนใจ แต่การจัดขี่จักรยานอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้คนในชุมชนเห็นว่าชวนมาขี่จักรยานแล้วเขาได้ประโยชน์ ได้ความรู้ ได้ทำดี เขาจึงจะสนับสนุน  ชุมชนหน้าวัดโคนอนทำกองทุนซื้อจักรยาน สมาชิกแต่ละคนออมเงินวันละ 10 บาท เริ่มจากสมาชิก 60 คน ได้เงินพอซื้อจักรยานใหม่เดือนละ 6 คัน แล้วเอามาจับสลากได้จักรยานไปเรื่อยจนครบทุกคน พบว่าเด็กที่ออมเงินจนได้จักรยานแบบนี้จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ รัก ดูแลจักรยานของตนดี ได้มาหลายปีจักรยานก็ยังมีสภาพดี ต่างจากคนที่พ่อแม่ซื้อให้ จะใช้ไม่ทน

จินดา: กิจกรรมมีหลายอย่าง มีการซ่อมจักรยานให้เด็กที่ไม่มีเงินซื้อ มีการสะสมแต้มความดีในธนาคารความดีมาแลกจักรยาน มีการออมเดือนละ 30 บาท

ทรงศักด์: อยากเห็นคนขี่จักรยานอย่างมีความสุข คนมีสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีสุขภาพดี โครงการจะสำเร็จได้ต้องไม่ทำคนเดียว แต่ต้องด้วยทีมงานที่เข้มแข็ง

จินดา: ขับเคลื่อนกันหลายคน มีผู้ใหญ่ใจดีหลายคนมาช่วย มีเครือข่ายหลายฝ่าย เป้าหมายคือลดการไปโรงพยาบาล

สาวิตรี: อยากให้เป็นชุมชนจักรยานอย่างยั่งยืน ต้องไม่ทำแค่เป็นกระแสระยะสั้น ต้องทำให้เป็นจิตสำนึกจริงๆ ในการสร้างเมืองน่าอยู่

ต้องให้เขารู้สึกว่าการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมีคุณค่า ให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของ  เจ้าหน้าที่เทศบาลเพียงสนับสนุนด้านความรู้

อารยา: จะขยายให้เต็มพื้นที่ตำบล และขยายต่อไปทั้งอำเภอ

อารดิน: จักรยานบรรลุธรรม ใกล้ชิดธรรมชาติ สังคมเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้จักรยานเป็นเครื่องมือด้วยกระบวนการที่ถูกต้องมีส่วนร่วม

Comments

comments

Check Also

ระดมผู้เชี่ยวชาญช่วยเสริมพลังเมืองที่อยากเป็นมิตรกับการเดินและจักรยาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น